แม้ ความคิดเห็นของ ส.ส.พรรคพลังประชาชน จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ในการสนับสนุน "สมัคร สุนทรเวช" หัวหน้าพรรคให้กลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
โดยกลุ่มเหนือ-กลาง-อีสานเหนือ กว่า 100 คน แสดงจุดยืนไม่สนับสนุน "สมัคร" กลับมาเป็น "นายกรัฐมนตรี" หนที่ 2 โดยยกเหตุผลเรื่องกระแสต่อต้านจากสังคม พรรคร่วมรัฐบาล และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมทั้งเรื่องใหญ่อย่างคดีหมิ่นประมาท นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ที่ศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำร้องขอเลื่อนฟังคำ พิพากษาในวันที่ 25 กันยายน
แต่อีกกลุ่มที่ประกอบด้วย กลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ใกล้ชิดกับ นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งมี ส.ส.ในมือกว่า 80 คน
และ กลุ่มเพชรบูรณ์ ของ "สันติ พร้อมพัฒน์" รมว.คมนาคม อีกกว่า 30 คนนั้น เดินเครื่องเต็มที่ที่จะผลักดัน "สมัคร" กลับมานั่ง "เก้าอี้นายกรัฐมนตรี" อีกครั้ง แม้จะรู้ว่านั่นเป็นการ "ราดน้ำมันลงบนกองไฟแห่งความขัดแย้ง" ก็ตาม ดูเหมือนว่าแนวคิดที่จะเข็น "สมัคร" กลับไปเป็น "นายกรัฐมนตรี" อีกครั้ง จะได้รับการสนับสนุนจากส่วนต่าง "10 กว่าเสียง" ของบรรดาแกนนำพรรคอย่าง "สมพงษ์ อมรวิวัฒน์, สมชาย วงศ์สวัสดิ์" รองหัวหน้าพรรค หรือ "นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" เลขาธิการพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีชื่อเป็นแคนดิเดตเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย
ด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกัน คือ ในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ ไม่มีแกนนำพรรคพลังประชาชนคนไหนหาญกล้าเข้ามาถือ "เผือกร้อน"
และ ใน "สถานการณ์ร้อน" จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ "คนแก่พรรษาการเมือง" อย่าง "สมัคร" ที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว เข้ามารักษาการไปอีกระยะหนึ่ง เพื่ออาศัยความอึดให้ผ่านพ้นช่วงโยกย้าย "ข้าราชการระดับสูง" และได้เริ่มใช้ "พ.ร.บ.งบประมาณปี 2552" สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับอุบัติเหตุทางการเมืองอื่นๆ ไปให้ได้อีกระยะ
แน่นอนว่าสามารถ ใช้ตรงนี้เป็นข้อต่อรองกับ "พรรคร่วมรัฐบาล" อื่นๆ ได้อีกจุด เพราะในภาวะเช่นนี้ไม่มีนักการเมืองค่ายไหนอยากให้เกิดการ "ยุบสภา" และเลือกตั้งใหม่
แต่จุดที่สำคัญที่สุดน่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่ "ตุลาการภิวัตน์" ซึ่ง "บิ๊กพลังประชาชน" คิดว่าเป็นอุปสรรคกับความอยู่รอดของพรรค
หาก ย้อนไปตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคพลังประชาชน ก็มีทั้งคดีใบเหลือง-ใบแดง หลายพื้นที่ ส่งผลมาถึง "คดียุบพรรคพลังประชาชน" จาก "ใบแดง" ของ ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรค ไล่มาจนคุณสมบัติรัฐมนตรี ที่ต้องกระเด็นออกจากตำแหน่งไป อย่าง "ไชยา สะสมทรัพย์" และ "วิรุฬ เตชะไพบูลย์" แม้กระทั่งคดีความต่างๆ ของ "ทักษิณ ชินวัตร" ที่ล่าสุด ถึงกับยืนเหยียบอยู่บนผืนแผ่นดินไทยไม่ได้
|
5 ความคิดเห็น:
ผมคิดว่า ยังไงมติพรรคใหญ่ก็จะทำให้พรรคเล็กนั้นต้องทำตามนะครับ
คนไม่ต้องแบ่งกลุ่มก็ได้ครับ แค่นี้ก็มองให้รู้ว่าภายในพรรคยังแบ่งแยกกันแล้วมาทำงานจะมีปัญหามากๆนะครับ
เห็นด้วยครับ ถ้าหากยังแยกความคิดในพรรคแล้วประสาอะไรกับประเทศชาติ
อันที่จิงก็น่าจะเชื่อฟังความคิดเห็นของพรรคเล็กๆบ้างนะคะบางทีปัญหาบางอย่างอาจเกิดจากพรรคการเมืองใหญ่มากกว่าพรรคการเมืองเล็กๆ
มีความผิดถ้าดื้อดึงด้านมาทำงานต่อก็ไม่ใช่คนดีแล้วนะครับ ต้องดูประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง เค้าลาออกกันทั้งคณะ คนที่มาบริหารได้ต้องเก่ง ดี เป็นผู้นำได้
แสดงความคิดเห็น