เอเจนซี - เหล่าพรรคการเมืองที่เป็นปรปักษ์มาเป็นเวลานานในซิมบับเวร่วมลงนามในข้อตกลงแบ่งปันอำนาจครั้งสำคัญในวันจันทร์ (15) โดยประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ ยอมยกอำนาจบางส่วนของตนให้กับฝ่ายค้านเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี หวังสร้างภาพความร่วมมือเพื่อดึงเงินสนับสนุนฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศที่จวนเจียนล้มละลาย เงินเฟ้อสูงกว่า 11 ล้านเปอร์เซ็นต์ หลังจากการต่อรองกันอย่างเคร่งเครียดมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ในที่สุด มูกาเบ และพวกฝ่ายค้านหลักคือ มอร์แกน สวานกิไร ผู้นำขบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย (เอ็มดีซี) และอาร์เธอร์ มูตัมบารา ผู้นำกลุ่มที่แยกตัวจากเอ็มดีซีไป ก็ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงฮาราเร ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของสักขีพยาน ซึ่งรวมทั้งจากายา กิกเวเต ผู้นำแทนซาเนีย ซึ่งเป็นประธานสหภาพแอฟริกา และประธานาธิบดีทาโบ เอ็มเบกิแห่งแอฟริกาใต้ สองผู้นำคนสำคัญที่ช่วยผลักดันการเจรจาต่อรองจนบรรลุผลสำเร็จ โดยก่อนหน้านี้ มูกาเบ และสวานกิไรได้ร่วมลงนามในข้อตกลงยุติวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันเกิดจากความขัดแย้งกันในเรื่องการเลือกตั้งใหม่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแล้วด้วย ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจะแบ่งแยกอำนาจการควบคุมกองกำลังรักษาความมั่นคงที่มีอำนาจสูงสุด และเคยเป็นกำลังสนับสนุนหลักของมูกาเบด้วย โดยที่มูกาเบคงจะคงอำนาจการสั่งการกองทัพของซิมบับเวไว้ในมือ แต่กลุ่มเอ็มดีซีต้องการควบคุมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชาวซิมบับเวนั้นหวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นการกรุยทางไปสู่การฟื้นฟูประเทศที่เคยมั่งคั่งร่ำรวยมาก่อน ให้พ้นจากสภาพล้มละลายทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อได้พุ่งทะยานขึ้นไปกว่า 11 ล้านเปอร์เซ็นต์ จนประชาชนหลายล้านคนต้องอพยพหนีไปอาศัยอยู่ในประเทศแอฟริกันเพื่อนบ้านทางใต้ ตามข้อตกลงดังกล่าว สวานกิไรจะได้รับผิดชอบในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นประธานของสภาคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลคณะรัฐมนตรี โดยพรรคซานู-พีเอฟของมูกาเบจะได้ที่นั่งในคณะรัฐมนตรี 15 ที่นั่ง พรรคเอ็มดีซีของสวานกิไรได้ 13 ที่นั่ง และกลุ่มที่แยกตัวออกไปจากเอ็มดีซีจะได้ 3 ที่นั่ง ส่วนมูกาเบซึ่งปัจจุบันอายุ 84 ปี และเป็นผู้นำของซิมบับเวมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1980 จะยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป รวมทั้งเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีอีกด้วย นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ข้อตกลงแบ่งปันอำนาจครั้งนี้ยังอยู่ในสภาพง่อนแง่นและจำเป็นที่บรรดาอดีตปรปักษ์ระดับไม้เบื่อไม้เมาเหล่านี้ จะต้องพักเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกันเอาไว้ก่อน แล้วหันมาร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อเอาชนะข้อสงสัยต่างๆ นานา โดยเฉพาะส่วนที่มาจากมหาอำนาจตะวันตกผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อฟื้นฟูประเทศ ทั้งนี้เมื่อวันเสาร์ (13) พรรคการเมืองคู่อริหลักทั้งสองได้พบปะกันและตกลงเงื่อนไขเกี่ยวกับตำแหน่งต่างๆ คณะรัฐมนตรี โดยได้มีการยกเลิกตำแหน่งรัฐมนตรีความมั่นคงของรัฐซึ่งเป็นตำแหน่งทรงอิทธิพลไป ส่วนกิจการด้านกระบวนการยุติธรรมก็ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และยังมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ทางด้านเรือนจำเพิ่มขึ้นด้วย เอ็มดีซีต้องการควบคุมกระทรวงด้านกิจการภายใน โดยดูแลงานตำรวจ รัฐบาลท้องถิ่น กระทรวงด้านกระบวนการยุติธรรมหนึ่งกระทรวง กระทรวงข้อมูลและกระทรวงการคลัง เพื่อที่จะดูแลรับผิดชอบเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยที่เอ็มดีซียอมยกกระทรวงสำคัญอื่นๆ รวมทั้งกระทรวงกลาโหมให้อยู่ในมือของพรรคซานู-พีเอฟของมูกาเบ รัฐบาลซิมบับเวระบุว่า ตัวแทนของพรรคซานู-พีเอฟและเอ็มดีซีได้ประชุมกันในช่วงเช้าของวันจันทร์เพื่อจัดสรรกระทรวงทั้ง 31 กระทรวง ส่วนรายชื่อรัฐมนตรรีนั้นจะเปิดเผยภายในสัปดาห์นี้ นอกจากนั้น อาจมีการจัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติมาทดแทนกองบัญชาการปฏิบัติการร่วมด้านความมั่นคง ซึ่งฝ่ายค้านเห็นว่าเคยเป็นเครื่องมือในการวางแผนใช้ความรุนแรงซึ่งข่มขู่ให้ฝ่ายค้านถอนตัวจากการเลือกประธานาธิบดีรอบที่สอง เพื่อเปิดทางให้มูกาเบหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง
วิเคราะห์ข่าว
ในที่สุดประเทศซิบบับเวก็มีประชาธิปไตยที่เริ่มมีการพัฒนาบ้างแล้วโดยฝ่ายบริหารมีพรรคฝ่ายค้านเข้าไปดูแลบริหารในบางกระทรวงและยุบบางกระทรวงที่ไม่จำเป็นและเป็นไปในแนวเผด็จการทิ้งไปเช่นกระทรวงความมั่นคง
วิเคราะห์ข่าวโดย นายรวมเลิศ สุภานันท์ 5131601165 ตอนเรียน1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น