เชียร์ 51

ข่าวเด็ด

วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ระวังเผด็จการรัฐสภา!

คนไทยส่วนใหญ่คงจะหายใจโล่ง ไปอย่างน้อยก็ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อพรรคพลังประชาชนลดท่าทีที่แข็งกร้าว จากที่เคยประกาศว่าจะเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันทีที่เปิดประชุมรัฐสภา แต่ในที่สุดก็ได้เลื่อนเวลาออกไป เป็นหลังวันที่ 18 สิงหาคม โดยอ้างว่า เพื่อรอผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสภา เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าแก้รัฐธรรมนูญโดยพลการ
แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมาย สูงสุดของประเทศ แต่ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติม ได้ ดีกว่าฉีกทิ้ง คณะผู้ร่างหรือ ส.ส.ร.อ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เขียนไว้ให้สามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้น แต่มีปัญหาว่าสมควรแก้ไขเมื่อใด ต้องดูสถานการณ์บ้านเมืองประกอบด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการราดน้ำมันเข้าใส่กองเพลิง ปัญหาต่อไปจะแก้ไขอย่างไร ควรฟังเสียงประชาชนหรือไม่? และจะแก้ไขเพื่อใคร?
เกี่ยวกับจังหวะเวลาในการแก้ไข มีหลายฝ่ายออกมาเตือนว่าสถานการณ์บ้าน เมืองในปัจจุบัน ที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง จากการแบ่งขั้วแบ่งฝักฝ่ายน่าเป็นห่วงว่าถ้าหากรัฐบาลดึงดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ฟัง เสียงคัดค้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย อาจนำไปสู่ การเผชิญหน้าและเหตุการณ์รุนแรง อาจร้ายแรงกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถึงขั้นกลียุคมิคสัญญี
ส่วนวิธีการแก้ไข แม้รัฐบาลจะ มั่นใจว่าจะสามารถหาเสียงข้างมาก เพื่อสนับ สนุนการแก้ไขได้ แต่อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบัน เป็นฉบับแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ผ่านการออกเสียงประชามติ ด้วยคะแนนเสียงกว่า 14.7 ล้านเสียง มากกว่าคะแนนเสียงที่พรรค พลังประชาชนได้รับในการเลือกตั้งระบบสัดส่วน เป็นการเลือกพรรคโดยตรง ซึ่งได้ไป 12 ล้านกว่าเสียง
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านประชามติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น จึงน่าจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ผ่านสื่อ หรือเวทีสาธารณะ การออกเสียงประชามติ เป็นต้น แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด จะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง เพราะที่ผ่านๆมา แม้จะอ้างว่าแก้ไขเพื่อประชาชน เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกมองว่าแก้เพื่อส่วนตัว
ที่ผ่านมา มีการกล่าวยํ้าถึงความ จำเป็นที่จะแก้ไขมาตรา 237 เพื่อหนีการยุบพรรคมาตรา 309 เพื่อลบล้างความผิดของนักการเมือง ที่เป็นพรรคพวกและนายใหญ่ ต่อมาพูดถึงมาตรา 190 ว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล แต่ไม่เคยพูดถึงประเด็นที่ขัดหลักการประชาธิปไตย เช่น ที่มาของ ส.ว. และไม่ได้พูดถึงมาตรการใหม่ๆ ที่จะป้องกันไม่ให้องค์กรตรวจสอบถูกแทรกแซงครอบงำ
ตรงกันข้าม กลับมีการรณรงค์ เพื่อถอดถอนองค์กรอิสระต่างๆ และการลดอำนาจฝ่ายตุลาการ คล้ายกับว่าจะกลับคืนสู่ สถานการณ์ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีการกล่าวหาว่ามีการครอบงำองค์กรอิสระ ต่างๆ และปล่อยให้มีการทุจริตคอรัปชันอย่างกว้างขวาง เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีการตรวจสอบ ไม่ใช่ “ประชาธิปไตยสมดุล” แต่เป็นประชาธิปไตยที่เรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา”

9 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถ้าการจะลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่ฟังเสียงความคิดเห็นจากสื่อ หรือเสียงจากประชาชน ก็อาจจะนำไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่อีกก็เป็นได้เพราะว่ารัฐธรรมนูญเปรียบเสมือน แนวทางของกฎหมายทั้งหมด

การที่รัฐบาลได้บอกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจเป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของคณะรัฐบาลชุดนี้ก็อาจจะเป็นได้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

การเลื่อนครั้งนี้อาจเป็นการดึงเกมส์ของรัฐบาลก็ว่าได้นะครับ เพราะท่าทีของรัฐบาลตอนนี้อาจจะได้รับความไม่เห็นด้วยจากหลายฝ่าย ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ควรวิเคราะห์กันก่อนไปนะครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เผด็จการรัฐสภา ลองเทียบในตอนที่รัฐบาลหน้าเหลี่ยมชนะ แล้วได้คะแนนเสียงท่วมท้นในสภาสิครับ จะรู้ว่าไม่ต่างกันเลยยยยยยยยย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อย่าให้มีเล้ยยยยย

สาธุ

..บ้านเมืองคงวุ่นวายน่าดู..

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มาตรา 309


สู้ๆ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทำถูกแล้วนะคะที่จะแก้ มิฉะนั้นรัฐบาลจะดำเนินงานไม่ราบรื่น และอีกอย่างหนึ่งก็คือนโยบายต่างๆจะได้ดำเนิการเป็นรูปธรรมสักที ถ้าหากมัวแต่มาประท้วงแก้ปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ประเทศก็คงพัฒนาช้าลงค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เรื่องนี้ก็ปล่อยไปตามความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ครับ


ปล ผมไม่เห็นด้วยนะครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทำอะไรเค้ารุกันหมดแล้ว ถ้ามันร่างเค้าข้างตนเองอีก ทีนี้ คนอีกครึ่งประเทศจะได้เห็นสันดานรัฐบาล นี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เฮ้อ เรียนวงจรอุบาท ไม่นึกว่าจะได้เจอของจริง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถ้าประชาชนไม่มีการสอดส่องสิทธิตัวเองว่าควรทำอะไร ตรวจสอบอะไรบ้างระวังจะกลายเป็นแบบที่เขียนนะคะ ช่วยกันค่ะช่วยกัน


ท่านคิดยังไรกับการเมืองในปัจจุบันนี้

ป้ายกำกับ